วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

12 เผ่าอิสราเอล




(ประมาณ ก่อน.ค.ศ. 1250 - 1000)
แผ่นดินพระสัญญา
"ดังนั้นแหละ พระเจ้าประทานแผ่นดินทั้งสิ้นแก่คนอิสราเอล ดังที่พระองค์ทรงปฏิญาณว่าจะให้แก่บรรพบุรุษของเขา" (โยชูวา 21.43 )
คนสมัยโบราณเรียกปาเลสไตน์ว่าแผ่นดินคานาอัน พวกอิสราเอลเรียกประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่นก่อนที่ตนจะเข้าไปตั้งหลักแหล่งว่า "ชาวคานาอัน" และ "ชาวอาโมไรต์" ในแผ่นดินคานาอันมีชนหลายชาติอาศัยอยู่ที่นั่นมานานแล้ว(โยชูวา 3.10 ) ประชาชนในแผ่นดินนี้มีอารยธรรมสูงมาก เมืองต่างๆ สร้างขึ้นอย่างดี ทุกเมืองมีเจ้าเมืองปกครองและมีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดย่อมอยู่ใกล้เคียง มีการติดต่อค้าขายกับ อียิปต์ เมโสโปเตเมีย และกรีก ชาวคานาอันเป็นพวกแรกที่ประดิษฐ์ตัวอักษรที่ใช้เขียนบนที่ราบแบนได้ ก่อนหน้านั้นถ้าจะเขียนถึงอะไรก็ต้องเขียนรูปภาพของสิ่งนั้น
ชาวคานาอันมีพระสูงสุดองค์หนึ่งเรียกว่า "เอล" แต่ส่วนใหญ่จะนมัสการพระบาอัล การนมัสการของชาวคานาอันกระทำกันในรูปแบบการใช้ความรุนแรงทางเพศ โดยเชื่อว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ไร่ นา ฝูงสัตว์และครอบครัวของตนเกิดผลและมีลูกดก
ก่อน ก.ค.ศ. 1250 อียิปต์ครอบครองคานาอันบ่อยครั้ง ฟาโรห์หลายองค์ปราบปรามเจ้าเมืองต่างๆ ของคานาอันลงเป็นข้าทาสบริวารและบังคับให้ส่งส่วย โดยพระองค์ส่งกองทัพไปคุ้มครองเป็นการตอบแทน ยามใดที่อียิปต์อ่อนกำลังลง บรรดาเจ้าเมืองก็เดือดร้อน บ่อยครั้งพวกเขาไม่สามารถรักษาอำนาจของตนไว้ได้ มักถูกเจ้าเมืองหรือชนกลุ่มใหม่ที่ต้องการเข้ามาตั้งหลักแหล่งในคานาอันบุกโจมตี ตอนที่อิสราเอลเข้าไปตั้งหลักแหล่งในคานาอันก็เป็นช่วงที่อียิปต์หมดอำนาจ
ฟาโรห์เมอร์เนปทาห์แห่งอียิปต์พยายามเข้าควบคุมปาเลสไตน์อีกครั้ง แต่ก็ถูกชาวทะเลศัตรูกลุ่มใหม่บุกเข้าโจมตี ชาวทะเลที่ว่านี้มีพวกฟิลิสเตียรวมอยู่ด้วย อียิปต์พบว่ายากที่ตนจะป้องกันประเทศให้พ้นจากการรุกรานของชาวทะเล จึงยอมให้เข้าไปตั้งหลักแหล่งในคานาอัน พวกฟิลิสเตียได้สร้างเมืองขึ้นมา 5 เมือง คือ กาซา อัชเคโลน อัชโดด เอโครน และกัท
เพราะอียิปต์อ่อนกำลังลงทำให้ปาเลสไตน์วุ่นวาย บรรดาผู้บุกรุกกลุ่มใหม่เข้ามายึดครองเมืองต่างๆ และสร้างขึ้นใหม่อีกหลายเมือง บริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดคือบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลและที่ราบเอสเดรอีโลน บริเวณนอกปาเลสไตน์ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย ชาวเอโดมและชาวโมอับได้สถาปนาราชอาณาจักรของตนขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันออกของทะเลตาย บริเวณทะเลทรายก็มีเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์อาศัยอยู่ เช่น พวกมีเดียนและอามาเลข ในระยะนั้นไม่มีประเทศใดในเมโสโปเตเมียเข้มแข็งพอที่จะมีอิทธิพลอยู่ได้นาน
อิสราเอล 12 เผ่าหลักแหล่งในปาเลสไตน์
อิสราเอลเข้าไปยึดครองคานาอันตอนปลายยุค ระหว่าง ก.ค.ศ. 1250-1000 พระธรรมโยชูวาเล่าถึงวิธีที่โยชูวานำอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนและเข้ายึดเมืองเยรีโค(โยชูวา1-5) อิสราเอลสามารถพิชิตเมืองต่างๆ ที่อยู่บนเนินเขาด้านเหนือและด้านใต้ของเยรูซาเล็ม (โยชูวา 7-10) และพูดถึงชัยชนะที่ภาคเหนือของปาเลสไตน์คือบริเวณรอบๆ เมืองฮาโซร์(โยชูวา 11) หลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าเมืองต่าง ๆ เช่น เดบีร์ ลาคิช และฮาโซร์ ถูกทำลายในช่วงนี้ รวมทั้งเบธเอล แต่ไม่ใช่เมืองอัย
การแบ่งดินแดนสองสามบทสุดท้ายของพระธรรมโยชูวาเป็นเรื่องการแบ่งดินแดนกันระหว่างอิสราเอล 12 เผ่า มีบางตอนบอกว่าอิสราเอลพิชิตปาเลสไตน์ไม่หมด ที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่าอิสราเอลจะเข้าไปตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ได้แล้ว แต่ก็มีเมืองของชาวคานาอันเป็นจำนวนมากที่ยังเป็นเอกราชอยู่เหมือนเดิม (โยชูวา 13.1-6 , 13 , 15.63, 16.10, 17.11-13) พระธรรมผู้วินิจฉัยบทแรกก็ยืนยันความจริงนี้ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าอิสราเอล 12 เผ่าไม่สามารถยึดปาเลสไตน์เป็นของตนได้ทั้งหมด (ผู้วินิจฉัย 1.29-36)
เพื่อจะเข้าใจเรื่องในช่วงนี้ เราต้องสังเกตสิ่งที่พระธรรมโยชูวาไม่ได้บอกไว้ ดังนี้
1. ไม่ได้เขียนไว้ว่าอิสราเอลต่อสู้เพื่อยึดครองบริเวณชายฝั่งทะเลของปาเลสไตน์ คนพวกนั้นเข้มแข็งเกินที่จะเอาชนะได้ (โยชูวา13.2-3)
2. ไม่ได้พูดถึงทุ่งราบเอสเดรอีโลนซึ่งอยู่ในหุบเขาคีโชน ที่นั่นมีชาวคานาอันและอาโมไรต์อยู่หนาแน่นเกินกว่าอิสราเอลจะยึดครอง
3. ไม่ได้พูดถึงการยึดเมืองชิโลห์และเชเคมซึ่งสองเมืองนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์อิสราเอล
พระธรรมโยชูวา 24 บอกว่าทุกเผ่าผูกพันกันโดยพันธสัญญาที่ทำกับพระเจ้าร่วมกัน โยชูวาเรียกเผ่าต่างๆ มาประชุมกันที่เมืองเชเคม ขอให้พวกเขาละทิ้งพระเทียมเท็จและทำสัตยาบันร่วมกันว่าจะเชื่อฟังพระเจ้า ความเป็นเอกภาพทางศาสนาคือสิ่งยึดเหนี่ยวสิบสองเผ่าไว้มั่นและทำให้เกิดความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ภายหลังเมืองชิโลห์กลายเป็นศูนย์กลางที่เผ่าต่างๆพากันมานมัสการพระเจ้าร่วมกัน เผ่าเลวีกลายเป็นชุมชนที่รับผิดชอบด้านศาสนาจึงไม่ได้รับดินแดนเป็นส่วนแบ่งโดยเฉพาะ แต่กระจายกันอยู่ในดินแดนของเผ่าต่าง ๆ
พระธรรมผู้วินิจฉัยเล่าเรื่องอิสราเอล 12 เผ่าต่อ และบันทึกเรื่องความทุกข์ลำบากต่างๆที่พวกเขาต้องเผชิญขณะที่เข้าไปยึดครองปาเลสไตน์ ผู้เขียนพระธรรมผู้วินิจฉัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อใดที่เผ่าต่างๆเชื่อฟังพระเจ้า พวกเขาก็เข้มแข็งขึ้น แต่เมื่อใดที่ไม่รับใช้พระองค์ก็จะอ่อนแอลง
ภารกิจของผู้วินิจฉัยผู้วินิจฉัยคือผู้ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้เป็นผู้นำเผ่าต่างๆ ทำสงครามกับศัตรู เมื่อใดที่มีผู้วินิจฉัยเป็นผู้นำ พวกเขาก็เข้มแข็งขึ้น และตระหนักได้ว่าพวกเขาต้องรับใช้พระเจ้าและรับใช้ซึ่งกันละกัน พระธรรมผู้วินิจฉัยพูดถึงวิธีที่อิสราเอลเผ่าต่างๆ จัดการกับศัตรูทั้งหลายในยุคนั้น เพื่อจะรักษาแผ่นดินไว้ให้ได้มากพอสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง และเพื่อให้ชีวิตของพวกตนมีความสุขความเจริญ
ศัตรูของอิสราเอล
พวกฟิลิสเตีย มีผู้วินิจฉัยสองคนที่ต่อสู้กับพวกฟิลิสเตียคือ ชัมการ์ ประมาณ ก.ค.ศ. 1150 (วนฉ 3.31) และแซมสัน (วนฉ 13.1-16.31) ท่านทำงานแบบกองโจรไม่ใช่แบบกองทัพ
พวกคานาอัน เดโบราห์เป็นผู้ปลุกระดมเผ่าต่างๆ ที่อยู่ทางภาคกลางและภาคเหนือของปาเลสไตน์ให้ลุกขึ้นต่อสู้กับพวกคานาอันที่ทุ่งราบเอสเดรอีโลนจนได้ชัยชนะ มีเรื่องนี้เล่าไว้ 2 สำนวน คือแบบร้อยแก้ว(ผู้วินิจฉัย บทที่ 4 ) และแบบร้อยกรอง (ผู้วินิจฉัยบทที่ 5)
เผ่าต่าง ๆ ที่พูดภาษาอารัม สามราชอาณาจักรที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนทำสงครามกับอิสราเอล ช่วงนี้ด้วย
โอทนีเอล รบชนะกษัตริย์แห่งเอโดม ประมาณ ก.ค.ศ. 1200 (วนฉ 3.7-11)
เอฮูด สังหารกษัตริย์แห่งโมอับ ก.ค.ศ. 1175 (วนฉ 3.12-30)
เยฟธาห์ ประมาณ ก.ค.ศ. 1050 นำกองทัพต่อสู้กับชาวอัมโมน (วนฉ 10.6-12.7)
ชนเผ่าเร่ร่อนผู้บุกรุก กิเดโอน นำกองกำลังอิสราเอลขนาดย่อมต่อสู้กับพวกมีเดียนและอามาเลข ซึ่งบุกรุกดินแดนอิสราเอลและขโมยพืชผลอยู่เสมอ (ประมาณ ก.ค.ศ. 1100) กิเดโอนขับไล่ผู้บุกรุกออกจากปาเลสไตน์ได้สำเร็จ ทำให้เผ่าต่างๆบรรเทาความเดือดร้อนลง (วนฉ 6.1-8.35)
พระธรรมผู้วินิจฉัยแสดงให้เห็นว่าอิสราเอล 12 เผ่าสามารถต่อสู้กับศัตรูได้เป็นอย่างดี และประสบชัยชนะครั้งสำคัญอยู่หลายหน แต่พวกฟิลิสเตียก็ยังคงมีอำนาจเกินกว่าที่พวกเขาจะปราบให้ราบคาบได้
พระเจ้าจอมโยธา
อิสราเอล 12 เผ่ารู้ดีว่าพวกตนเป็นของกันและกัน เพราะต่างก็นับถือและนมัสการพระเจ้าผู้ทรงพระนามว่ายาห์เวห์องค์เดียวกัน พวกเขาทำพันธสัญญากับพระเจ้าร่วมกันที่เมืองเชเคม และปฏิญาณว่าจะปรนนิบัติรับใช้พระองค์เท่านั้น (โยชูวา 24) ก่อนหน้านี้มีบางคนที่เข้าร่วมพิธีพันธสัญญาอาจจะรู้เพียงแต่ว่าพระองค์ทรงพระนามว่า "เอล" ภายใต้การนำของโยชูวาทุกคนเห็นพ้องกันว่าควรจะเรียกพระนามพระองค์ว่า "ยาห์เวห์" (เยโฮวาห์)
มีอยู่สามสิ่งที่สำคัญมากเป็นพิเศษในศาสนาของอิสราเอล 12 เผ่าในช่วงนี้ คือ หีบพันธสัญญา หนังสือพันธสัญญา และเทศกาลต่างๆ
หีบพันธสัญญาหีบพันธสัญญาเป็นหัวใจหรือศูนย์กลางที่สร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในการนมัสการพระเจ้า สมัยที่อิสราเอลตั้งหลักแหล่งใหม่ๆ หีบนี้อาจเก็บไว้ที่กิลกาล (โยชูวา4.15-24) ภายหลังจึงย้ายไปเก็บที่เมืองเบธเอล (ผู้วินิจฉัย 20.27) ในสมัยซามูเอลหีบนี้เก็บไว้ที่เมืองชิโลห์ (1ซามูเอล3.3) โดยเชื่อว่าหีบใบนี้มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพระเจ้าจึงมีฤทธานุภาพอยู่ในตัว ดังนั้นในยามเกิดสงคราม พวกเขาจะหามหีบพันธสัญญานำหน้ากองทัพเพื่อบำรุงขวัญบรรดานักรบของพระเจ้า (1 ซามูเอล 4.5-9) และใช้พระนามใหม่ที่เกี่ยวข้องกับหีบพันธสัญญาว่า "ยาห์เวห์ สะบาโอธ" แปลว่า "พระเจ้าจอมโยธา" แสดงว่า พระเจ้าทรงจอมทัพของพวกเขา (1ซามูเอล 4.4)
หนังสือพันธสัญญาเมื่ออิสราเอลตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์แล้ว ก็เริ่มต้นดำเนินชีวิตแบบใหม่ เลิกอาชีพเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์หันมาเป็นชาวไร่ชาวนา พระบัญญัติ 10 ประการยังมีความสำคัญ แต่พวกเขาจำเป็นต้องมีกฎระเบียบสำหรับการดำเนินชีวิตบนเส้นทางใหม่ บรรดาผู้นำทั้งหลายอาจสนองความต้องการนี้โดยการนำเอาคำสั่งสอนที่มีอยู่ในพระธรรม อพยพ20.22-23.33 มาแนะนำให้ใช้ สี่บทนี้มักจะเรียกกันว่า "หนังสือพันธสัญญา" กฎหมายบางอย่างในอพยพสี่บทดังกล่าวคล้ายคลึงกับกฎหมายของชนเผ่าอื่นๆในสมัยโบราณที่ตั้งบ้านเมืองอาศัยเป็นหลักแหล่ง ตามปกติกฎหมายดังกล่าวจะมีรูปแบบดังนี้ "ถ้าผู้ใด....... ผู้นั้นต้อง" แสดงให้ประชาชนรู้ว่าควรประพฤติตนในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร แต่ก็มีกฎหมายบางข้อที่มีรูปแบบเหมือนบัญญัติ 10 ประการคือ "จง และ อย่า" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกฎหมายรูปแบบใหม่ แสดงว่าอิสราเอลต่างกับชนชาติอื่น
หนังสือพันธสัญญาบอกไว้อย่างชัดเจนว่า อิสราเอลต้องรับใช้พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ต้องไม่นมัสการพระของชาวคานาอัน(อพยพ 22.20 23.13) กฎหมายบางข้อตักเตือนอิสราเอลมิให้นำประเพณีของชาวคานาอันมาใช้ในการนมัสการพระเจ้า (อพยพ 22.18 , 23.18)
กฎหมายข้ออื่นๆ สนับสนุนให้มีความเมตตากรุณาต่อคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเช่น คนแปลกหน้า (อพยพ22.21, 23.9) หญิงหม้ายและลูกกำพร้า (อพยพ 22.22) คนยากจน (อพยพ 22.25-27, 23.3)และทาส(อพยพ21.1-11)
เทศกาลเลี้ยงสามอย่างหนังสือพันธสัญญาพูดถึงเทศกาลประจำปีสามอย่างที่ประชาชนอิสราเอลต้องเลี้ยงฉลองกัน (อพยพ23.14-17) พระธรรมอพยพ 34.18-พูดถึงเทศกาลต่างๆ ไว้คล้าย ๆ มีสองเทศกาลคือกินขนมปังไร้เชื้อและเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยว ซึ่งฉลองกันในฤดูใบไม้ผลิ คือต้นฤดูและปลายฤดูเก็บเกี่ยวธัญพืช ส่วนอีกเทศกาลหนึ่งคือเทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บพืชผลปลายปี กระทำกันในฤดูใบไม้ร่วง เทศกาลทั้งสามนี้เหมาะกับชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดตามฤดูกาล
เมื่อพวกอิสราเอลเข้าไปตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์และเริ่มใช้เทศกาลทั้งสามนี้ในการนมัสการพระเจ้า เทศกาลปัสกาฉลองเวลาเดียวกับเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ทั้งสองกลายเป็นเทศกาลใหญ่ในอิสราเอล เรื่องการอพยพกับเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อถูกโยงเข้าด้วยกันในความคิดของอิสราเอล ต่อมาอีกสองเทศกาลก็ไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของชาติ เทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยวผลแรกกลายเป็นเทศกาลเพนเทคศเตซึ่งเป็นเทศกาลสำหรับรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติให้แก่พวกเขาที่ภูเขาซีนาย เทศกาลฉลองการเก็บพืชผลปลายปีกลายเป็นเทศกาลอยู่เพิงหรืออยู่เต็นท์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตอนที่อิสราเอลเร่ร่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร
ดังนั้นเทศกาลเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมทั้งสามนี้จึงกลายเป็นโอกาสที่อิสราเอลจะรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นจากการเป็นทาสที่อียีปต์ และตั้งให้พวกเขาเป็นประชาชนพิเศษของพระองค์ เทศกาลเลี้ยงในฤดูใบไม้ร่วงอาจกลายเป็นเวลาที่กำหนดให้เผ่าต่างๆ มาชุมนุมกันทุกปีที่ชิโลห์สถานที่เก็บหีบพันธสัญญา และกลายเป็นเวลาที่กำหนดให้มีการรื้อฟื้นพันธสัญญาในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าองค์เดียวกัน (เฉลยธรรมบัญญัติ 31.9-13, 1 ซามูเอล 1.3)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น