วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เฮโรด



เฮโรด
 
           ยิวเองเป็นผู้เชิญชวนโรมันให้หันมาสนใจกิจการของยูเดีย หลังจากกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ แจนเนียสสิ้นพระชนม์ลงและมีพระนางซาโลเมมเหสีเป็นผู้นำทางการเมืองของพวกยิว พระนางพยายามจะแต่งตั้งเฮอร์แคนัสที่ 2 (Hyrcanus II) โอรสองค์แรกของพระนางที่สมาคมกับพวกฟาริสีให้เป็นมหาปุโรหิต แต่โอรสองค์ที่ 2 คือ อริสโตบูลัสที่ 2 (Aristobolus II) ที่สมาคมกับพวกสะดูสีพยายามจะแย่งชิงอำนาจนั้น
เมื่อพระนางซาโลเมสิ้นพระชนม์ สองพี่น้องจึงต่อสู้กันอย่างเปิดเผย ต่างฝ่ายต่างมีชาวยิวเป็นพรรคพวกให้การสนับสนุน เฮอร์แคนัสที่ 2 ปราชัยในการสู้รบที่เมืองเยรีโค อริสโตบูลัสจึงได้เป็นกษัตริย์ในแคว้นยูเดีย แต่เฮอร์แคนัสที่ 2 ได้เพื่อนใหม่ชื่ออันทิปาเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการแคว้นอิดูเมอา และยังได้รับความช่วยเหลือจากกษัตริย์แห่งนาบาเทอาอีกด้วยจึงยกกำลังเข้าโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม อริสโตบูลัสรอดพ้นจากการปราชัยก็เพราะ สคารัส (Scaurus) แม่ทัพชาวโรมันให้ความช่วยเหลือ ขณะที่ปอมเปย์พยายามเข้ายึดปาเลสไตน์และซีเรียเป็นของจักรวรรดิโรมันอยู่นั้น การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายก็ยังดำเนินอยู่
ทั้งเฮอร์แคนัสที่ 2 และอริสโตบูลัสที่ 2 ยอมรับว่าโรมันเป็นเจ้าโลกคนใหม่ จึงต่างวางแผนขอความสนับสนุนจากโรมันให้ตนได้ปกครองแคว้นยูเดียโดยวิธีติดสินบนปอมเปย์ ปอมเปย์จึงเรียกทั้งสองฝ่ายไปพบที่ดามัสกัส เพื่อตัดสินใจว่าจะช่วยเหลือฝ่ายไหน แล้วก็แสดงความโปรดปรานเฮอร์แคนัสที่ 2 ซึ่งมีสิทธิ์เป็นผู้สืบราชบัลลังก์โดยชอบธรรม อริสโตบูลัสที่ 2 ยอมปราชัยและถอยทัพ แต่เมื่อประชาชนในกรุงเยรูซาเล็มให้การสนับสนุนพระองค์ ปอมเปย์จึงเข้าโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม และที่สุดอริสโตบูลัสที่ 2 พ่ายแพ้และถูกจับไปเป็นนักโทษที่กรุงโรม
ดินแดนที่ราบชายฝั่งทะเลของปาเลสไตน์ สะมาเรีย และดินแดนฟากข้างโน้นของแม่น้ำจอร์แดนถูกผนวกเข้าในมณฑลหนึ่งของโรมัน เฮอร์แคนัสที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ปกครองกรุงเยรูซาเล็มในฐานะมหาปุโรหิตและเป็น"เอ็ธนาร์ค" (ethnarch) ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่ใช่กษัตริย์แต่ดูเหมือนจะใช้เรียกผู้ปกครองประชาชนชาติใดชาติหนึ่งที่ใช้กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองแต่ยอมรับอำนาจสูงสุดของโรม ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ปกครองประเทศยิวต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ทางการของโรมันค้ำจุนอำนาจบริหารของตน เฮอร์แคนัสที่ 2 ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ไม่นานก็ถูกปลดลงเหลือแต่ตำแหน่งมหาปุโรหิตเท่านั้น อันทิปาเตอร์และคนในตระกูลของเขาได้เป็นเจ้าเมืองปกครองแคว้นยูเดีย
อันทิปาเตอร์อันทิปาเตอร์ เป็นผู้ว่าราชการแคว้นอิดูเมอา ขึ้นครองอำนาจในแคว้นยูเดียตอนที่ปอมเปย์สิ้นชีวิต และจูเลียส ซีซาร์กลับคืนสู่อำนาจปกครองจักรวรรดิโรมันอีกครั้ง เพราะอันทิปาเตอร์ช่วยให้การปกครองของจูเลียส ซีซาร์มีเสถียรภาพ ซีซาร์จึงตอบแทนด้วยการให้ท่านได้สิทธิ์เป็นพลเมืองโรมัน และตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย นอกจากนี้แล้วยังอนุญาตให้ท่านสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ ภายใต้การปกครองของอันทิปาเตอร์ พวกยิวได้รับอนุญาตให้ขึ้นศาลของตนเอง และยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร แต่พวกยิวยังเกลียดชังอันทิปาเตอร์ ประการหนึ่งเพราะท่านไม่ใช่ชาวยิวแต่เป็นชาวอิดูเมอา (เอโดม) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเอซาว นอกจากนี้แล้ว ท่านยังเป็นตัวแทนของโรม แต่การปกครองของท่านก็เคร่งกฎระเบียบและมีความยุติธรรมมาก
เฮโรดมหาราชอันทิปาเตอร์กระจายความรับผิดชอบไปยังบุตรสองคนของท่าน โดยให้ฟาซาเอล (Phasael) บุตรคนโตมีอำนาจปกครองแคว้นยูเดียกับเพอเรีย (Perea) และให้เฮโรด (Herod) บุตรคนที่สองปกครองแคว้นกาลิลี
เมื่อจูเลียส ซีซาร์ถูกปลงพระชนม์ พวกยิวฉวยโอกาสวางยาพิษอันทิปาเตอร์ แต่อีกไม่นาน มาร์ค แอนโทนี ก็เข้ามาควบคุมงานราชการในปาเลสไตน์ ท่านแต่งตั้งฟาซาเอลและเฮโรดให้เป็น"เททราร์ค" (Tetrarch) หมายถึงผู้ปกครองที่ได้รับมอบอำนาจหน้าที่จากโรมันให้ปกครองบริเวณใดบริเวณหนึ่งของประเทศแทนชาวโรมัน เททราร์คมีอำนาจน้อยกว่า เอ็ธนาร์คและกษัตริย์
ในปี ก.ค.ศ. 40 มีชาวเปอร์เซียกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่าชาวปาร์เธียน (Parthians) เข้าโจมตีปาเลสไตน์ แล้วจับเฮอร์แคนัสที่ 2 ไปเป็นนักโทษที่บาบิโลน ส่วนฟาซาเอลก็ฆ่าตัวตาย เฮโรดไปขอความช่วยเหลือจากโรม ตอนนั้นชาวปาร์เธียนได้ตั้งอันทิโกนัส (Antigonus) โอรสของอริสโตบูลัสที่ 2 ให้เป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงปกครองอยู่นานสามปี (ก.ค.ศ. 40 - 37)
อ็อคทาเวียน กับ มาร์ค แอนโทนี ร่วมใจกันแต่งตั้งเฮโรดให้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นยูเดีย ในรัชสมัยของเฮโรดมีการวางแผนทำลายซึ่งกันและกันอยู่หลายครั้ง แต่เฮโรดเป็นคนอำมหิตและปราบปรามศัตรูของพระองค์อย่างรุนแรงจนราบคาบ อ็อคทาเวียนยืนยันการแต่งตั้งเฮโรดให้เป็นกษัตริย์แคว้นยูเดียต่อไป และยังเพิ่มดินแดนให้อีก อีกไม่นาน เฮโรดได้ทรงเริ่มต้นการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างพระวิหารขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มด้วย นอกจากนี้แล้วยังสร้างพระวิหารอีกหลายแห่งเพื่อให้ประชาชนนมัสการซีซาร์ กษัตริย์เฮโรดเป็นคนชอบระแวงสงสัยและชอบใช้ความรุนแรง คนแบบนี้เองที่สามารถสั่งประหารชีวิตหมู่เด็กทารกที่หมู่บ้านเบธเลเฮม หลังจากที่พวกโหราจารย์มาเยี่ยมคารวะตอนที่พระเยซูประสูติ หลังจากนั้นไม่นาน คือในปี ก.ค.ศ. 4 เฮโรดก็สิ้นพระชนม์
ราชอาณาจักรแบ่งแยกเฮโรดมหาราชทรงวางแผนเลือกผู้ที่จะสืบราชบัลลังก์ด้วยพระองค์เอง พระองค์มีโอรสสามองค์ แต่ละองค์ต้องการมีส่วนแบ่งในราชอาณาจักรเหมือนกัน
อารเค-ลาอัส เป็นคนชอบใช้ความรุนแรงและทะเยอทะยานเหมือนบิดา แต่เป็นนักปกครองที่ไม่เอาไหน ภายในเวลาสิบปีก็ถูกถอดจากตำแหน่ง ดินแดนในปกครองของท่านถูกโอนเข้าไปอยู่ในความดูแลของผู้ว่าราชการชาวโรมันหลายคน คนหนึ่งในจำนวนนี้คือ ปอนทิอัส ปีลาต (Pontius Pilate) ผู้ไต่สวนพระเยซูและอนุมัติให้ประหารชีวิตพระองค์
เฮโรด อันทิปาส ปกครองแคว้นกาลิลีตั้งแต่ปี กคศ. 1 จนถึง ค.ศ. 39 เรารู้เรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านน้อยมาก รู้แต่ว่าท่านคือเฮโรดซึ่งหย่าภรรยาของตนและรับนางเฮโรเดียสภรรยาน้องชายเป็นภรรยาของตน ทำให้ยอห์นบัพติศโตกล่าวโทษท่าน ในที่สุดยอห์นก็ถูกประหารชีวิต พระเยซูทรงเจริญเติบโตขึ้นที่กาลิลีซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของท่านผู้นี้ ตอนปลายสมัยที่ท่านปกครองแคว้นกาลิลี เฮโรด อันทิปาสเดินทางไปกรุงโรมเพื่อทูลขอให้ซีซาร์ตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์ แต่ซีซาร์ คาลิกูลาไม่ทรงไว้ใจในตัวท่านจึงจับตัวส่งไปเป็นเชลย
ฟีลิป ปกครองดินแดนที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ท่านปกครองประชาชนอย่างสันติและยุติธรรม ท่านสร้างเมืองซีซารียา ฟีลิปปี และเมืองเบธไซดา ภรรยาของท่านชื่อซาโลเม คนที่ขอร้องให้ตัดศีรษะยอห์นผู้ให้บัพติศมาใส่ถาด ฟีลิปสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 34
เฮโรด อากริปปาที่ 1 
เฮโรด อากริปปาที่ 1
 เป็นหลานของเฮโรดมหาราช ท่านเจริญวัยที่กรุงโรม เมื่อฟีลิปสิ้นชีวิตลงซีซาร์จึงยกดินแดนของฟีลิปให้เฮโรด อากริปปาปกครองต่อ เมื่อปี ค.ศ. 41 เฮโรด อากริปปาได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองแคว้นยูเดียและดินแดนที่ผู้ว่าราชการชาวโรมันหลายคนปกครองอยู่ ท่านจึงได้เป็นกษัตริย์ครอบครองดินแดนที่เฮโรดมหาราชเคยปกครองอยู่
เฮโรด อากริปปาที่ 1 ทรงสนับสนุนชาวยิวอย่างเต็มที่ ทำให้พวกฟาริสียกย่องนับถือมาก ในปี ค.ศ. 44 เฮโรด อากริปปาสิ้นพระชนม์โดยปัจจุบันทันด่วน มีพระอาการเจ็บปวดมาก เนื่องจากยอมให้ประชาชนยกย่องพระองค์เป็นพระเจ้า โอรสของพระองค์ก็ทรงเยาว์วัยไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้ ดินแดนทั้งหมดจึงตกอยู่ใต้การปกครองของผู้ว่าราชการชาวโรมันท่านหนึ่ง
วาระสุดท้ายของแคว้นยูเดียนี่คือเริ่มต้นแห่งวาระสุดท้ายของแคว้นยูเดีย พวกผู้ว่าราชการที่กลับมาปกครองในแคว้นไม่ใช่คนยิว จึงไม่เห็นความสำคัญของขนบประเพณี เขาสนใจแต่ความเจริญก้าวหน้าของตนเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ในเวลาเช่นนี้คนยิวกลุ่มที่เรียกว่าพวก "ซีลอต" (Zealot) จึงมีอิทธิพลมากขึ้น พวกนี้เชื่อในเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อต้านและโค่นล้มอำนาจของชาวโรมัน ในสมัยที่พวกผู้ว่าราชการเข้ามาปกครองแคว้นยูเดีย พวกซีลอตขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ทางการของโรมันอย่างเปิดเผย ผู้ว่าราชการสองคนที่มีชื่อปรากฏอยู่ในพระธรรมกิจการคือ เฟ-ลีกซ์ (Felix) และเฟสทัส (Festus) เฟ-ลีกซ์เป็นคนชอบให้ความรุนแรงและฉ้อราษฎร์บังหลวง จนพวกซีลอตบางคนต้องถูกบีบให้ต่อต้านเขาอย่างดุเดือดและรุนแรง คนพวกนี้ได้ชื่อว่าเป็น "มือมีด" พร้อมที่จะฆ่าชาวโรมันทุกโอกาส
ปี ค.ศ. 66 ผู้ว่าราชการชื่อ ฟลอรัส (Florus) ขโมยทรัพย์สินในพระวิหารและปล้นกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อถูกคนยิวต่อต้านก็พยายามเอาชนะโดยการนำกองทัพโรมันมาโจมตี ทำให้เกิดการสู้รบจนลุกลามใหญ่โตจนจักรพรรดิเนโรแห่งโรมันต้องส่งเวสปาเชียนแม่ทัพที่เก่งที่สุดมาแก้ไขสถานการณ์ ในขณะที่เกิดการสู้รบ จักรพรรดิเนโรสิ้นพระชนม์ กองทัพประกาศให้เวสปาเชียนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ เวสปาเชียนจึงให้ทิตัส (Titus) ลูกชายอยู่ปราบกบฎในยูเดียต่อไปทำให้เกิดการเผาประตูพระวิหารและสังหารหมู่ชาวยิวเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกรุงเยรูซาเล็มก็ถูกทำลายเกือบหมดในปี ค.ศ. 70 นี่คือวาระสุดท้ายแห่งรัฐยิว หลังจากนั้นพวกฟาริสีจึงตั้งชุมชนทางศาสนาที่แจมเนีย ( Jamnia ) เพื่ออนุรักษ์ธรรมเนียมประเพณีและคัมภีร์ของยิวไว้
"เวลาของเราใกล้เข้ามาแล้ว"
พวกยิวเชื่อว่าการสำแดงของพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์แล้ว พวกเขาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับโลกนี้และมนุษยชาติมามากแล้ว พระองค์ทรงนำพวกเขาผ่านประสบการณ์หลายอย่าง และทรงใช้ประสบการณ์เหล่านั้นเป็นช่องทางสำแดงพระองค์ให้พวกเขารู้จัก ประชาชนของพระเจ้านำเอาความรู้ความเข้าใจเรื่องพระลักษณะและพระประสงค์ของพระเจ้ามาตีแผ่ให้เราทราบ โดยสามารถสรุปออกมาได้ ดังนี้
พวกยิวได้เรียนรู้และเชื่อศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวผู้เนรมิตสร้างและทรงบำรุงรักษาเอกภพไว้ พระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยความชอบธรรมและทรงต้องการให้มนุษย์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ด้วยความชอบธรรม
พวกเขายึดมั่นความคิดเห็นที่ว่า พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่มนุษยชาติ และทรงเรียกพวกเขาให้เข้าสู่สังคมใหม่ร่วมกับบรรดาผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้พระองค์
พวกเขาเชื่อมั่นคงว่าสักวันหนึ่งพระเจ้าจะทรงสถาปนาราชอาณาจักรของพระองค์บนโลกนี้ พวกยิวจะมีฐานะอันทรงเกียรติในราชอาณาจักร และชนชาติอื่น ๆ ก็จะมีส่วนในราชอาณาจักรนี้เช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าคนชั่วและคนที่ใช้ความรุนแรงจะถูกลงโทษ แต่คนชอบธรรมจะได้รับรางวัลจากพระเจ้า
พวกยิวส่วนใหญ่ยอมรับว่าความคิดเห็นเหล่านี้พระเจ้าทรงสำแดงให้พวกเขาทราบ ดูเหมือนว่ากรรมวิธีที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์จบลงอย่างสับสนที่สุด ความจริงแล้วการสำแดงของพระเจ้ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ พระองค์กำลังเตรียมวิธีสำแดงพระองค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวยิว ตอนนี้ถึงวาระที่พระคริสต์จะเสด็จมาเพื่อสำแดงพระราชประสงค์ต่าง ๆ ของพระเจ้าให้มนุษย์ได้รู้จัก พระเจ้าประทานบทเรียนสำคัญ ๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรับเสด็จพระคริสต์
วิธีการที่พรรคต่าง ๆ ของยิวมีปฏิกิริยาต่อการเสด็จมาของพระคริสต์ แต่ละพรรคต่างก็มีเหตุผลที่ตนเห็นสมควรจะต่อต้านพระองค์ ดังนี้
พรรคพวกของเฮโรด พวกนี้ต่อต้านพระเยซูตลอดมา พวกเขาคิดว่าพระเยซูเป็นพวกเดียวกับยอห์นบัพติศมาที่เป็นนักเทศน์ที่พูดถึงความชอบธรรมโดยไม่เกรงกลัวผู้ใด และตำหนิพรรคพวกเฮโรดอย่างเปิดเผย จึงไม่แปลกเลยที่พวกเขากับเฮโรดร่วมใจกันเยาะเย้ยพระเยซูเมื่อตอนที่พระองค์ถูกไต่สวน
พรรคสะดูสี คือพวกปุโรหิตที่ปรนนิบัติพระเจ้าอยู่ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาเชื่อว่าการถวายเครื่อง บูชาของพวกเขาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตและความเชื่อของพวกยิว ทัศนคติของพวกสะดูสีเกิดขึ้นจากความเชื่อของพวกเขาที่ว่า ชีวิตมนุษย์สิ้นสุดที่ความตาย ถ้าปรารถนาจะได้พระพรและความสุขจะต้องแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งในชีวิตนี้ ทีแรก ๆ พวกนี้ไม่ต่อต้านพระเยซู แต่เมื่อพระองค์ทรงชำระพระวิหาร จึงโกรธและพยายามทำให้ประชาชนเข้าในว่าพระเยซูหมิ่นประมาทพระเจ้า และโน้มน้าวให้ชาวโรมันเห็นว่าพระองค์ก่อการกบฏ
พรรคฟาริสีพวกนี้อยู่ตรงข้ามกับพรรคพวกเฮโรดและพวกสะดูสี พวกนี้เห็นว่า ความชอบธรรมส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในศาสนาและในชีวิตของพวกเขาและถือว่าธรรมบัญญัติคือสมบัติล้ำค่าจึงจัดระเบียบของชีวิตโดยใช้หลักธรรมบัญญัติเป็นหลัก โดยแจกแจงธรรมบัญญัติทั่วไปจนละเอียดยิบแล้วนำมาประยุกต์ใช้เป็นกฎระเบียบหยุมหยิม พวกฟาริสีเชื่อมั่นเรื่องการเป็นขึ้นมาจากความตายของคนชอบธรรมและกำจัดความทะเยอทะยานทั้งหลายทิ้ง เพราะหวังจะได้รับบำเหน็จรางวัลตอบแทน พระเยซูทางคัดค้านพวกนี้อย่างเปิดเผยบ่อยครั้ง เพราะพวกเขาลืมพระเมตตาของพระเจ้า และปฏิเสธว่าในพระประสงค์ของพระเจ้าไม่มีความรอดสำหรับมนุษย์อยู่เลย แต่พระเยซูเสด็จมาเพื่อช่วยคนบาปให้รอด
พรรคเอสซีนคนที่อยู่ในพรรคนี้แยกตนเองออกจากสังคมมนุษย์อย่างสิ้นเชิง โดยตั้งชุมชนของตนเองขึ้นตามที่ต่าง ๆ ในทะเลทรายรอจนกว่าพระเจ้าจะทรงเคลื่อนไหวนำราชอาณาจักรของพระองค์เข้ามาในโลกนี้ การที่พระเยซูไม่ทรงตำหนิพวกเอสซีนเลยนั้น แสดงว่าพระองค์ต้องสนับสนุนกิจกรรมและทัศนคติต่าง ๆ ของพวกเอสซีน จริงอยู่ ถึงพระองค์จะทรงสอนว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงนำมาในโลกนี้ ไม่ใช่เป็นผลของการต่อสู้ของมนุษย์ ในที่สุดอารามของพวกเอสซีนในทะเลทรายแห่งแคว้นยูเดียถูกทหารโรมันทำลาย โดยที่พระเจ้ามิได้ทรงยื่นพระหัตถ์เข้าแทรกแซงอย่างที่พวกเอสซีนคาดหวังไว้
พวกซีลอตพวกนี้เชื่อว่า พวกเขาจะต้องต่อสู้เพื่อให้แผ่นดินของพระเจ้าเข้ามาในโลกนี้ และยังเชื่อด้วยว่าการปกครองของชาวโรมันชั่วร้ายที่สุดในโลกที่เสื่อมทราม มนุษย์จะรับพระพรจากพระเจ้าได้ในราชอาณาจักรที่พวกยิวเป็นผู้ตั้งขึ้น พวกเขาเชื่อว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาในฐานะผู้นำกองทัพพระองค์ทรงมีทั้งปัญญาและอำนาจ สามารถโค่นล้มการปกครองของชาวโรมันได้หลังจากนั้นก็จะนำแผ่นดินของพระเจ้ามาในโลกนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น