วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หนานชัย และ น้อยสุริยะ



นานชัยและน้อย สุริยะ 

คริสเตียนไทยผู้พลีชีพสองคนแรก(ประวัติความเป็นมาของคริสเตียนเชียงใหม่)

   จากบทความในเฟซบุ๊คของ ศาสนาจารย์ ธวัช เย็นใจ 


            ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี มิชชันนารี ชาวอเมริกันจากคริสตจักรเพรสไบทีเรียน สหรัฐอเมริกา ได้ก่อตั้งคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1868 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศ ข่าวดี เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ และปลดปล่อยประชากรของพระเจ้าให้หลุดพ้นจากความเขลา และโรคา พยาธิ ด้วยการให้การศึกษา รักษาพยาบาลและบริการสังคม ปัจจุบันนี้คริสตจักรยังคงสืบสานต่อเจตนารมณ์ และทำพันธกิจแห่งการประกาศเป็นพยานอย่างซื่อสัตย์คริสตจักรยังมุ่งเตรียมสมาชิกของคริสตจักรทุกเพศทุกวัย ให้สำเหนียกและสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการก่อตั้ง คริสตจักร ด้วยการเพิ่มพูนความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า ความรู้ในพระวจนะเพื่อจะใช้เป็น บรรทัดฐาน ในการสานต่องานและพันธกิจของคริสตจักร ตลอดจนการดำเนินชีวิตคริสเตียนอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งสู่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระเยซูคริสต์ เพื่อรับใช้พระเจ้า และประชากรของพระองค์ที่ยากไร้ เจ็บป่วย พิการ อาวุโส เร่ร่อน เสียเปรียบ รับความอยุติธรรม และประสบความทุกข์ยากลำบากทาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และภัยธรรมชาติที่กำลังเรียกร้อง และร่ำให้หาความรัก ความยุติธรรม สันติสุข และความรอด
             การประกาศเผยแพร่คริสตศาสนาในเชียงใหม่ เริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราช(ร.๕) เมื่อเจ้ากาวิโรรสหรือ " เจ้าหลวงเชียงใหม่ " หรือที่ชาวบ้านเรียกโดยทั่วไปว่า “ เจ้าชีวิตอ้าว” ซึ่งสมนามนี้ ได้มาจากความที่เด็ดขาด เอาจริงเอาจังและมีความห้าวหาญ ในการปกครองบ้านเมือง นั่นเอง กล่าวคือในการซักไซ้ไล่เลียง ไต่สวนจำเลยในคดีอุกฉกรรจ์ บางคดี ถ้าหากเจ้าหลวงเปล่งวาจาออกมาว่า “อ้าว” เพียงคำเดียวเท่านั้น หมายความว่าจำเลยผู้นั้นจะต้องรับโทษ ประหารชีวิตสถานเดียวไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหลวงเชียงใหม่ กับศาสนฑูตดาเนียล แมคกิลวารี มีมาก่อนหน้านั้น โดยเจ้าหลวงได้เดินทางลงไปกรุงเทพ ฯ เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ และได้พบศาสนฑูตดาเนียล แมคกิลวารี และคณะมิชชันนารี ที่นั่น จากนั้นเจ้าหลวงเชียงใหม่กับคณะฑูตก็มีความรู้จัก สนิมสนมกันยิ่งขึ้น ศาสนฑูตแมคกิลวารี จึงขออนุญาตเดินทางมาเผยแพร่ศาสนสถานที่เชียงใหม่ และรักษาโรคแก่คนพื้นเมือง ซึ่งก็ได้รับอนุญาต และการรับรองอย่างดียิ่ง จากเจ้าหลวงเชียงใหม่ซึ่งหนึ่งในเหตุผลของเจ้าหลวง เจ้าเชียงใหม่ก็คือ การที่เห็นว่า คณะมิชชันนารี ได้รับเกียรติสูงเป็นอย่างมากจากพระเจ้าแผ่นดิน เช่น การได้รับเชิญไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆเป็นประจำและสามารถเข้าออกพระราชวังได้ เพื่อสอนหนังสือ และรักษาโรค แก่พระประยูรญาติอีกด้วย จากนั้น ศาสนฑูตแมคกิลวารี ก็ได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับภรรยา และบุตรอีก 2 คน โดยการนั่งเรือออกมาจากกรุงเทพ ฯ ในวันที่ 3 มกราคม 2410 และถึงในวันที่ 3 เมษายน 2410 เป็นเวลา 91 วัน ซึ่งชาวเชียงใหม่ก็ได้ต้อนรับ และเจ้าหลวงเชียงใหม่ได้ให้ที่ดิน รวมทั้งปลูกบ้านพักให้ได้อยู่อาศัย อีกทั้งเป็นศาลาสำหรับรักษาคนไข้ และศูนย์เผยแพร่ศาสนา

อยู่มาไม่นาน ทั้งศาสนฑูต แมคกิลวารี ภรรยาและลูก ๆ ก็เป็นที่รักของคนเชียงใหม่ เพราะความโอบอ้อม อารีและได้รักษาโรคภัยต่าง ๆ เช่น การรักษาไข้จับสั่น ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก หากใครในสมัยนั้นเป็น โรคนี้ มักจะถึงแก่ความตาย อย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีจะมีคนล้มตาย ด้วยโรคนี้หลายร้อยคน พวกชาวบ้าน ก็เชื่อกันว่าผีห่ามาเอาชีวิตของตนไป ชาวเมืองเชียงใหม่ ได้เรียกชื่อของมิชชันนารีทั้งสองว่า “พ่อครูหลวง” และ "แม่ครูหลวง” ซึ่งเป็นการให้เกียรติอย่างยิ่ง หลังจากที่พ่อครูหลวงพาครอบครัวมาอยู่เชียงใหม่ได้ 1 ปี ศาสนฑูตโจนาธาน วิลสัน และครอบครัวก็ได้เดินทางจากกรุงเทพ ฯ เพื่อมาช่วยงานของพ่อครูหลวงและ แม่ครูหลวงและงานก็มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ยิ่งนานวันเข้าชาวเมืองยิ่งได้กล่าวขวัญ ถึงคุณงามความดีของพ่อครูหลวง และแม่หลวงกันมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นขวัญใจ ของชาวบ้านชาวเมืองเชียงใหม่ ไปเสียแล้ว ทำให้เจ้าหลวงเชียงใหม่เกิดความรู้สึกไม่พอใจยิ่งนัก แต่ก็ยังเก็บอารมณ์ไม่แสดงออกแต่อย่างใด    ในระยะเวลา 2 ปี จากการประกาศของมิชชันนารีทั้งสองครอบครัวได้บังเกิดผลดีขึ้นโดยมีผู้เข้ามา รับ ความเชื่อและรับบับติสมา เป็น คริสเตียน 7 คน ดังนี้
1. หนานอินต๊ะ ต้นตระกูล อินทะพันธ์ เข้ารับบัพติสมาเมื่อ วันที่ 3 มกราคม 2412
2. น้อยสุริยะ หมอพื้นเมือง และเป็นคนดูแลโคของเจ้าหลวงเชียงใหม่
3. นายบุญมา คนรับใช้หลานชายเจ้าหลวงเชียงใหม่
4. แสนญาวิชัย ลูกน้องเจ้าเมืองลำพูน
5. หนานชัย อดีตมัคทายก และเป็นลูกน้องของเจ้าหลวงเชียงใหม่
6. ปู่ส่าง ชาวเงี้ยว
7. น้อยคันธา ชาวบ้านธรรมดา
           จากการที่มีคนเข้ามาเป็นคริสเตียน โดยเฉพาะน้อยสุริยะและหนานชัย ซึ่งเป็นลูกน้องของเจ้าหลวง ทำให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ไม่พอใจยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมและไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ชาวบ้าน จึงได้สั่งการให้นำน้อยสุริยะและหนานชัยไปประหารชีวิต โดยข้อหา การละทิ้งศาสนาพุทธเข้ามาเป็น คริสเตียน ซึ่งทั้งสองก็ยอมรับแต่โดยดีรุ่งเช้าวันอังคารที่ 14 กันยายน 2412 ซึ่งเป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญวันหนึ่งของคริสเตียนไทย เพชฌฆาตได้นำตัวทั้งสองคนนี้ไปในป่าหนามเล็บแมว นอกหมู่บ้าน บังคับให้คุกเข่าลง หนานชัยได้อธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า “พระเยซูเจ้าข้า โปรดรับวิญญาณของข้าพเจ้า รับวิญญาณของ ข้าพเจ้าด้วยเถิด อาเมน” ภาพอันน่าสลดใจนี้ทำให้บรรดาผู้ประหารถึงกับน้ำตาตก เพชฌฆาตได้นำขื่อคา ที่ใส่คอและมือทั้งสองคนออก ซึ่งขื่อคานี้ ถูกสวมไว้ตั้งแต่บ่ายวันวาน นับเป็นเวลา 20 ชั่วโมงที่ต้องทนทุกข์อยู่กับขื่อคานี้ เพชฌฆาตย่างเข้ามาพร้อมกับตะบองใหญ่ หนานชัยได้ถูกตีที่คาง 1 ที ร่างซบลงดินเสียชีวิตลงในทันที ส่วนน้อยสุริยะ ถูกตีใต้คาง 6 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ตาย เพชฌฆาตจึงเอาหอกแทงซ้ำที่หน้าอก ทะลุหัวใจ เลือดไหลอาบทั่วร่าง  จากการประหารชีวิตนี้ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ห้ามใครแพร่งพรายหากใครฝ่าฝืนก็จะมีโทษเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามบอกแก่มิชชันนารีเป็นอันขาดจน 2 สัปดาห์ให้หลังพ่อครูหลวงจึงได้รู้เรื่องราวการประหารชีวิต จากนั้นชีวิตการเป็นอยู่ของมิชชรันนารีก็ตกอยู่ในในสภาวะมืดมนอย่างที่สุด 

ไม่มีใครให้พึ่งพาได้ ชาวบ้านก็ไม่กล้าเข้ามาหาซึ่งกลัวจะโดนอาญาจากเจ้าหลวงนั่นเอง พ่อครูหลวงได้เขียนจดหมายและบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้น หมายจะส่งข่าวไปให้คณะมิชชันนารีที่กรุงเทพ ฯ ทราบแต่ก็ไม่มีผู้ใดไปส่งจดหมายให้ แต่มีชาวพม่าคนหนึ่งซึ่งเป็นคนกว้างขวางและมีอิทธิพลมากในจังหวัดเชียงใหม่ รู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมิสชันนารี จึงแสดงความเอื้อเฟื้อจะนำจดหมายไปที่กรุงเทพ ฯ ให้ จนกระทั่ง 2 – 3 เดือน ต่อมา มิชชันนารีทางกรุงเทพ ฯ จึงได้รับข่าวและได้เข้าทูลเรื่องราวต่าง ๆ ต่อพระเจ้าแผ่นดิน
กระทั่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2412 พระเจ้าแผ่นดิน ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงได้นำพระราชสาสน์มาถึง เจ้าหลวง เชียงใหม่ ซึ่งข้อความในพระราชสาสน์นั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้อ่านและพูดออกมาอย่าง โล่งอกว่า “ไม่เห็นมีข้อความอะไรมากนักนอกจากอนุญาตให้มิชชันนารีจะอยู่ หรือจะไปก็ได้ตามใจ” ทั้งนี้เนื่องจากพระสาสน์นั้นมิได้กล่าวถึงการประหารชีวิตคริสเตียนและได้มีการเปิดอ่านที่ท้องพระโรงในคุ้มหลวง (บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในขณะที่อยู่ในท้องพระโรงก็มีการปราศัยกัน ระหว่างศาสนฑูตแมคกิลวารี หรือพ่อครูหลวง กับเจ้าหลวงเชียงใหม่
 ได้มีการกล่าวถึงการประหารชีวิตคริสเตียนทั้งสอง และการโต้เถียงกันรุนแรง โดยที่เจ้าหลวงได้บอกว่า การประหารชีวิตทั้งสองคนเนื่องจากเป็นการที่เขาทั้งสองละเลยการปฏิบัติ หน้าที่ ๆ เจ้าหลวงมอบหมาย เช่น การปฏิเสธมีส่วนร่วมในงานต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าหลวงจำสามารถสั่งลงโทษได้
แต่พ่อครูหลวงได้โต้ไปว่า ไม่ใช้เช่นนั้น เหตุที่ต้องประหารเพราะว่าทั้งสองคนนั้นเข้ามาเป็นคริสเตียน ด้วยความโกรธเจ้าหลวงจึงยอมรับว่าที่สั่งประหารชีวิตเพราะเขาทั้งสองเป็น คริสเตียน และจะประหารทุกคนที่เป็นคริสเตียนอีกทุกราย หากมิชชันนารีจะอยู่ต่อก็อยู่ได้ สามารถรักษาพยาบาลคนป่วยได้ แต่ห้ามมีการเผยแพร่หรือสอนศาสนาคริสต์โดยเด็ดขาด ถ้าขัดขืนจะไล่ออกเสียจากเมืองเชียงใหม่
 จากเหตุการณ์นี้ข้าหลวงที่นำพระราชสาสน์มาก็เป็นหมวดหมู่ความปลอดภัยของ มิชชันนารี ทั้ง 2 ครอบครัวยิ่งนัก ต้องการให้ย้ายเข้าไปอยู่กรุงเทพ ฯ เพื่อความปลอดภัย หลังจากที่ได้ตกลง ศาสนฑูตโจนาธาน วิลสัน ได้ย้ายไป ที่จังหวัดตาก และปฏิบัติพันธกิจที่นั่น ส่วนพ่อครูหลวงหรือแมคกิลวารียังยืนยัน จะอยู่เชียงใหม่ได้รับการดูแลจาก เจ้าหลวงเป็นที่ดีต่อกัน ฉะนั้น เมื่อต้องจากกัน ก็ควรจะจากกันด้วยความเป็นมิตร มากกว่าจากกันด้วยการเป็นศัตรูหลังจากที่ตกลงกันแล้ว พ่อครูหลวงได้เข้าไปหาเจ้าหลวงเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น และกล่าวแก่เจ้าหลวงว่า มิชชันนารีมาอยู่เชียงใหม่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหลวงและชาว เชียงใหม่ เป็นมิตรที่ดีต่อกัน ฉะนั้นเมื่อต้องจากกันก็ควรจากกันด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่ไปอย่างศัตรู เมื่อโดน คำพูดที่ตรงไปตรงมา อย่างจริงจัง ของพ่อครูหลวง เช่นนี้ เจ้าหลวงจึงต้องยอมรับและยอมจำนนต่อเหตุผลต่างๆ ที่พ่อครูหลวง กล่าวมาทุกประการ และยอมผ่อนปรนให้พ่อหลวง โดยบอกว่าพ่อครูหลวงว่า เจ้าหลวงต้องเดินทางไป กรุงเทพ ฯ อาจใช้เวลาซัก 6 เดือนจึงกลับ จะให้พ่อครูหลวงอยู่เชียงใหม่ต่อจนกว่าเจ้าหลวงจะกลับ มาแล้ว จึงไปจากเชียงใหม่ เป็นอันว่ามิชชันนารี ได้อยู่ทำงานของพระเจ้า 6 เดือนที่เชียงใหม่ และเป็นการเรียกความเสียขวัญดีฝ่อของชาวบ้านให้กลับคืนมาอีกด้วย  กาลเวลาผ่านไป เจ้าหลวงได้เดินทางกลับมายังเชียงใหม่ มิชชันนารีทั้งสองมีความกังวลใจยิ่งนัก ที่จะต้องออกจากเชียงใหม่ แต่ในระหว่างการเดินทางก่อนถึงเชียงใหม่ เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้ล้มป่วยอย่างกระทันหันและได้เสียชีวิตขณะอยู่บนแคร่หามระหว่างทางจากลำพูนมาเชียงใหม่ 

จากนั้นมา เจ้าอินทนนท์ ผู้เป็นบุตรเขยของเจ้ากาวิโรรสได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป และได้ให้คำสัญญาว่าจะให้พ่อครูหลวงและมิชชันนารีอยู่ในเชียงใหม่ ต่อไป โดยไม่ถูกขัดขวางใด ๆ ทั้งสิ้นด้วยความยินดี ศาสนฑูต ดาเนียล แมคกิลวารี หรือ “พ่อครูหลวง” จึงมีโอกาสทำงานรับใช้พระเจ้าที่เชียงใหม่ต่อไปอีก 41 ปี และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2454 อายุ 83 ปี ส่วนแม่ครูหลวง ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 5 กรกฏาคม 2466 อายุได้ 84 ปี ศพของพ่อครู และแม่ครูหลวง ได้ฝังไว้เคียงข้างกัน ที่สุสานนานาชาติ บ้านเด่นเชียงใหม่
หากพ่อครูหลวงไม่ได้ตัดสินใจไปพบเจ้าหลวงที่คุ้มหลวงเชียงใหม่เมื่องวันที่ 29 พฤศจิกายน 2412 เพื่อปรับความเข้าใจกันแล้ว พ่อครูหลวงและมิชชันนารีทุกคนก็ต้องย้ายออกไปจากจังหวัดเชียงใหม่ ตามแรงกดดันของเจ้าเชียงใหม่ บัดนี้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ และคริสเตียนอาจได้สูญหายไปจากเชียงใหม่ หลังจากน้อยสุริยะ กับหนานชัย ถูกประหารชีวิตไปแล้วก็ได้









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น